Brainwell Medical  |  Advanced Brain Stimulation

Brainwell Medical  |  Wisdom Energy Longevity Laugh

เมื่อลูกฉันเป็นออทิสติก การยอมรับและเตรียมพร้อมเพื่อดูแลลูก

เมื่อพ่อแม่พาลูกไปหาหมอด้วยความกังวลใจเกี่ยวกับพัฒนาการที่ไม่เป็นไปตามปกติ คำว่า “ออทิสติก” หรือ “เด็กพิเศษ” หรือ “ออทิสติกสปคตรัม” อาจทำให้รู้สึกตกใจและหวาดกลัว แต่การได้รับการวินิจฉัยและยอมรับความจริง เป็นก้าวแรกที่สำคัญในการช่วยเหลือลูกให้มีชีวิตที่ดีขึ้น บทความนี้จะเล่าถึงประสบการณ์ของพ่อแม่เมื่อหมอบอกว่าลูกเป็นออทิสติก และวิธีการรับมือเพื่อให้สามารถดูแลลูกอย่างดีที่สุด

ฉันเริ่มจากการสังเกตลูกเมื่อ ไม่สบตา ไม่พาที ไม่ชี้นิ้ว…

หมอบอกฉันว่า “ออทิสติก” มีลักษณะสังเกตที่จำง่ายๆ คือ “ไม่สบตา ไม่พาที ไม่ชี้นิ้ว”  ซึ่งเริ่มสังเกตได้ตั้งแต่อายุ 18 เดือนขึ้นไป เด็กกลุ่มนี้มักไม่ค่อยสนใจผู้คนรอบตัว ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะตามชื่อโรค “Autism” ที่มีรากศัพท์จากคำว่า Autos (กรีก) ที่แปลว่า “ตัวเอง” เพราะเขาจะอยู่แต่ในโลกตัวเองจนไม่มอง ไม่สบตา ไม่สนใจใคร ไม่เล่น ไม่ยิ้ม ซึ่งต่างจากธรรมชาติเด็กทั่วไป 

ดังนั้นถ้าลูกมีลักษณะดังต่อไปนี้ ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อประเมินพัฒนาการอย่างละเอียด

1. ไม่มีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น เช่น ไม่มองหน้า ไม่สบตา ไม่แสดงสีหน้าท่าทางเวลามีคนมาทัก เล่นกับเพื่อนไม่เป็น ชอบแยกตัวอยู่คนเดียว

2. ปัญหาด้านการสื่อสาร พูดช้ากว่าวัย ไม่เข้าใจภาษา บางคนมีพูดภาษาต่างดาว บางคนไม่พูดเลยหรือพูดเลียนแบบ พูดซ้ำๆ 

3. มีพฤติกรรมทำซ้ำ เช่น สะบัดมือ หมุนตัว เดินเขย่ง ไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงในชีวิตประจำวัน หมกมุ่นติดสิ่งของบางอย่าง

4. ปัญหาทางอารมณ์ ควบคุมอารมณ์หรือแสดงความรู้สึกไม่เหมาะสม เช่น หัวเราะหรือร้องไห้โดยไม่ทราบสาเหตุ หงุดหงิด อาละวาด ขว้างของ ทำร้ายตัวเอง ทำร้ายคนอื่น 

5. บางคนก็มาด้วยพฤติกรรมถดถอย เช่น เคยเรียกพ่อแม่ได้ เคยพูดได้เป็นคำๆ ช่วงขวบกว่า ๆ และพอ 2 ขวบไม่พูด อันนี้ก็เข้าข่ายเช่นกัน

หลังจากที่หมอบอกว่าลูกฉันเข้าข่ายออทิสติก การวางแผนการตรวจวินิจฉัยจึงเกิดขึ้น…

เมื่อลูกมีอาการที่เข้าข่ายออทิสติก แพทย์จะทำการตรวจประเมินเพื่อวินิจฉัย โดยประกอบด้วย 

1. การซักประวัติ

  • ประวัติพัฒนาการ: ในแต่ละช่วงวัย เช่น การเดิน การเล่น การพูด พฤติกรรม
  • ประวัติครอบครัว: ที่เกี่ยวข้องกับพัฒนาการ 
  • พฤติกรรมในชีวิตประจำวัน: การเลี้ยงดู อาหาร การดูจอ กิจวัตรประจำวันต่างๆ ยา/วิตามิน
  • การดูแลสุขภาพทั่วไป: สถานะสุขภาพทั่วไปและประวัติการเจ็บป่วยที่สำคัญ

2. การตรวจร่างกาย เพื่อประเมินปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ที่อาจส่งผลต่อพัฒนาการ

3. การประเมินพัฒนาการ ใช้เครื่องมือประเมินต่างๆ เช่น

  • M-CHAT (Modified Checklist for Autism in Toddlers) สำหรับเด็กเล็ก 18-48 เดือน
  • ADOS (Autism Diagnostic Observation Schedule) ซึ่งเป็นการสังเกตพฤติกรรมโดยตรงในสถานการณ์ต่าง ๆ
  • ADI-R (Autism Diagnostic Interview-Revised) ซึ่งเป็นการสัมภาษณ์ผู้ปกครองเกี่ยวกับพฤติกรรมของเด็ก

4. การประเมินด้านจิตวิทยา อาจมีการทำการประเมินด้านจิตใจ หรือการทดสอบ IQ

5. การตรวจเพิ่มเติม เช่น การตรวจการได้ยิน การตรวจคลื่นสมองเพื่อหาคลื่นชัก การตรวจเอกซเรย์สมองเพื่อหาความผิดปกติในเนื้อสมอง

6. โดยจะแบ่งความรุนแรงเป็นสามระดับ  ระดับ 1 ต้องการการช่วยเหลือสนับสนุน  ระดับ 2 ต้องการการช่วยเหลือสนับสนุนอย่างมาก และระดับ 3 ต้องการการช่วยเหลือสนับสนุนอย่างสูงมาก

7. ในบางรายที่อายุยังไม่ถึง 2 ขวบ หรือมีอาการน้อย แพทย์อาจไม่ได้วินิจฉัยว่าเป็นออทิสติก แต่จะบอกว่าเป็นเพียงพัฒนาการช้า หรือมีปัญหาด้านการพูดการสื่อสารแทน และในหลายๆรายหากได้รับการรักษาอย่างเต็มที่ น้องๆสามารถมีพัฒนาการกลับมาเป็นเด็กปกติได้ 

หมออธิบายการรักษาออทิสติกว่ามีอะไรบ้าง ฉันฟังอย่างตั้งใจและคิดตามอย่างจริงจังเพื่อลูก…

หัวใจสำคัญของการรักษา คือ การวินิจฉัยที่รวดเร็ว หากสามารถวินิจฉัย และรับการรักษาที่เหมาะสมก่อนอายุ 3 ขวบ โอกาสมีพัฒนาการดีขึ้นมากกว่ากลุ่มที่วินิจฉัยหลัง 6 ขวบ อย่างมีนัยสำคัญ

ในส่วนของการรักษาต้องใช้สหวิชาชีพช่วยกันดูแลในทุกๆด้านแบบบูรณาการ ทั้งการฝึกกิจกรรมบำบัด การฝึกกายภาพบำบัด การฝึกพูด การปรับพฤติกรรมการเลี้ยงดู เลิกหน้าจอ ปรับอาหาร และปัจจุบันวิทยาการการแพทย์เจริญก้าวหน้าไปมาก เราพบแล้วว่าการกระตุ้นสมองด้วยคลื่นแม่เหล็ก (Transcranial Magnetic Stimulation, TMS) และคลื่นพัลส์ (Transcranial Pulse Stimulation, TPS) เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยฟื้นฟูสมองเด็กกลุ่มนี้ได้  โดยคลื่นแม่เหล็กจะกระตุ้นการทำงานของเซลล์ประสาทให้ดีขึ้น พัฒนาการไวขึ้นอย่างก้าวกระโดดหากใช้วิธีการที่เหมาะสมกับเด็กแต่ละคน แต่ด้วยเทคโนโลยีที่ยังใหม่มากจึงยังไม่แพร่หลายและต้องอยู่ภายใต้ผู้เชี่ยวชาญจึงจะปลอดภัยและเห็นผลชัดเจน

เมื่อหมอเข้าใจฉันและให้คำแนะนำเพื่อให้ฉันและครอบครัวรับมือกับตัวเองให้ได้ก่อน เพื่อจะได้เข้าใจลูก และพร้อมเดินหน้าการรักษาอย่างจริงจังต่อไป หมอแนะนำฉันว่า…

1. ทำความเข้าใจกับตัวโรค เริ่มด้วยการศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับออทิสติกให้ลึกซึ้ง เพื่อให้เข้าใจสาเหตุ ลักษณะอาการและการรักษาต่างๆ 

2. ยอมรับความจริง เป็นเรื่องปกติที่พ่อแม่และญาติจะรู้สึกวิตกกังวล เศร้า หรือสับสน ควรยอมรับความจริงที่เกิดขึ้น และหาทางแก้ไขร่วมกันตามหลักวิทยาศาสตร์

3. พูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญ ปรึกษากับแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็กเพื่อขอคำแนะนำเกี่ยวกับการเลี้ยงดู รวมถึงการบำบัดที่เหมาะสม

4. สร้างเครือข่ายการสนับสนุน เข้าร่วมกลุ่มสนับสนุนหรือชุมชนผู้ปกครองเด็กออทิสติก เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และได้รับการสนับสนุนจากผู้ที่เข้าใจ

5. ตั้งเป้าหมายที่เป็นจริง และวางแผนการฝึกที่เหมาะสม เป็นไปได้จริง 

6. มองโลกแง่บวก ให้กำลังใจตัวเองและครอบครัว ให้รางวัลเชิงบวกในสิ่งเล็กๆน้อยๆที่เกิดขึ้น

การได้ดูแลลูกเมื่อฉันยังมีชีวิตอยู่เป็นเรื่องปัจจุบัน แต่การเตรียมตัวเพื่ออนาคตที่ดีของลูกเมื่อวันที่ฉันไม่อยู่แล้ว คือ “เป้าหมายของฉัน”…

1. สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับออทิสติกอย่างถูกต้องเหมาะสม ให้เขาพัฒนาไปในทิศทางที่ดีและไวที่สุดในช่วงอายุน้อย ซึ่งเป็นช่วงที่ฝึกฝน ปรับพฤติกรรมได้ง่ายสุด ยิ่งอายุมากจะยิ่งปรับพฤติกรรมยาก หรือการฝึกที่ล่าช้าเกินไปอาจทำให้พัฒนาไปได้น้อยกว่าที่ควร

2. สนับสนุนการฝึกพัฒนาการ หาที่ฝึก โรงเรียนหรือโปรแกรมการฝึกที่เหมาะสมกับลูก 

3. พัฒนาทักษะการสื่อสาร งดการดูหน้าจอ ให้เด็กมีเวลาอยู่กับคนให้มากที่สุด พยายามพูดคุย ฝึกเล่นเสียง ออกเสียง สนับสนุนการสื่อสาร 2 ทาง ทำกิจกรรมร่วมกับเด็กวัยเดียวกัน 

4. จัดการกับพฤติกรรม เช่น การเพิกเฉยกับพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม การเสริมแรงบวก เพื่อช่วยให้ลูกพัฒนาทักษะทางสังคมและการปรับตัว ป้องกันพฤติกรรมเอาแต่ใจอาละวาดด้วยการไม่ตามใจ สร้างวินัยให้ลูก

5. สร้างเครือข่ายการสนับสนุน พูดคุยกับผู้ปกครองคนอื่น ๆ และเข้าร่วมกลุ่มผู้ปกครองที่มีลูกเป็นออทิสติกหรือพัฒนาการล่าช้า เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และคำแนะนำ

6. สนับสนุนการพัฒนาทักษะชีวิต เช่น การจัดการเงิน การทำอาหาร และการดูแลตนเอง เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการใช้ชีวิตในอนาคต

7. ดูแลสุขภาพจิต ให้ความสำคัญกับสุขภาพจิตของลูกโดยการสร้างบรรยากาศที่ปลอดภัยและสนับสนุนให้เขาแสดงออก

8. เปิดใจและรับฟัง สื่อสารกับลูกอย่างเปิดใจ รับฟังความรู้สึกและความคิดเห็นของเขา เพื่อเข้าใจสิ่งที่เขาต้องการ

Brainwell Medical หวังเป็นอย่างยิ่งว่าบทความนี้จะช่วยให้พ่อแม่รู้สึกมั่นใจมากขึ้นในการพาลูกเข้ารับการตรวจคัดกรองออทิสติก และมองเห็นความสำคัญของการยอมรับและเตรียมพร้อมเพื่อลูกในทุกๆ ด้าน

www.BrainwellMedical.com | Advanced Brain Stimulation

กรุงเทพฯ;

พัทยา:

Inquiry Form

Interested in *

Caution for Brain Stimulation * Do you have these conditions?