Brainwell Medical  |  Advanced Brain Stimulation

Brainwell Medical  |  Wisdom Energy Longevity Laugh

ทำไมเด็กออทิสติกพูดไม่ได้ พูดช้า ? 

ทำไมเด็กออทิสติกพูดไม่ได้ พูดช้า ? 

สมองลูกเราต่างจากเด็กปกติยังไง ?

คุณหมอคะ ลูกยังพูดไม่ได้เลย อยากให้พูดได้ พูดเป็นประโยครู้เรื่อง การกระตุ้น TMS ช่วยได้มั้ยคะ ?

ช่วยได้ค่ะ แต่คุณแม่ต้องเข้าใจพัฒนาการของสมอง ”เด็กปกติ” ก่อน ว่ากว่าที่เค้าจะพูดได้ต้องผ่านอะไรบ้าง เพราะถ้าไม่เข้าใจเรื่องนี้ ก็จะไม่เข้าใจในเคสออทิสติกหรือพูดช้านะคะ หมอขอพูดลงลึกระดับเซลล์สมองซึ่งเป็นต้นเหตุเลยนะ

เช่น ถ้าจะให้เด็กปกติพูดตามคำว่า “หม่ำ” น้องจะต้องมีขั้นตอนดังต่อไปนี้

  1. ตาทั้งสองข้างมองปากแม่ ว่าเคลื่อนไหวแบบไหน เม้มปากพูด “หม่ำ” แล้วเม้มปากปิดอีกที ภาพจากตาจะส่งสัญญาณผ่านถนนกลางศีรษะ ไปที่สมองส่วนการมองเห็นและความจำภาพด้านหลัง (occipital lobe)
  2. ในขณะเดียวกันที่เห็นปากแม่นั้น เสียง “หม่ำ” จะเข้าหูน้องทั้งสองข้าง ส่งสัญญาณไปยังสมองส่วนการได้ยินและแปลควาหมายด้านข้างหู (temporal lobe, Wernicke area)
  3. สมองสองส่วนนี้จะทำงานประสานพร้อมกัน ทำให้รู้ว่าถ้าปากขยับแบบนี้ จะได้ยินเสียงว่า หม่ำ ตามหลักการของ Hebbian (ใช้สมองหลายๆส่วนช่วยกันจำ จะทำให้จำได้ดีกว่า ใช้พลังงานน้อยกว่า)
  4. น้องต้องมีความสนใจ มีสมาธิได้บ้างจดจ่อได้บ้าง และเค้าต้องรู้ว่าเราอยากให้เค้าพูดตาม
  5. สมองส่วนหน้า (premotor cortex) วางแผนล่วงหน้า ว่าจะเม้มปากยังไง วางลิ้นยังไง ขยับขากรรไกรแค่ไหน และประสานงานกับสมองน้อย (cerebellum) ที่อยู่ด้านหลังและก้านสมองให้น้องต้องกลั้นหายใจได้เพื่ออกเสียง ปอด กล้ามเนื้อกระบังลม กล้ามเนื้อซี่โครง กล้ามเนื้อคอ ต้องทำงานประสานกันได้ดีแบบอัตโนมัติ เพื่อใช้ในการกลั้นหายใจและเปล่งเสียงออกมา ถ้าน้องๆคนไหนที่ยังหายใจเหนื่อย สำลักน้ำลาย หรือยังให้ออกซิเจนอยู่ เค้าก็ไม่อยากพูด
  6. เมื่อน้องพูดคำว่า “หม่ำ” ออกมา เสียงจะเข้ามาที่หูน้องอีกครั้ง สมองส่วนการได้ยินจะทำการเช็คว่าเสียงที่ตัวเองพูดมานั้น ตรงกับเสียงแม่พูดออกมาหรือเปล่า ถ้ายังไม่ถูกต้อง แม่ก็จะออกเสียงซ้ำๆ เด็กปกติจะมองและฟังอีกครั้ง พร้อมออกเสียงใหม่ให้ใกล้เคียงที่แม่พูดมา
  7. เมื่อน้องออกเสียงถูกต้อง แม่จะยิ้ม ปรบมือ หอม กอด ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นวงจรความสุข (reward circuit) ทำให้อยากพูด “หม่ำๆ” ให้ถูกต้อง
  8. เมื่อน้องหิว ระบบประสาทอัตโนมัติ จะทำให้เด็กร้องไห้เพื่อขอนมหรืออาหาร เมื่อพูดคำว่า “หม่ำ” ถูกต้อง เด็กก็จะได้รับอาหาร เมื่อได้กินอาหาร ได้กลิ่นอาหาร ลิ้นได้รับรส ขากรรไกรขยับ รับรู้ถึงอาหาร กระตุ้นการหลั่งน้ำย่อย เมื่อลิ้นได้รสหวาน รสเค็ม รสมันๆ นั่นคือร่างกายน้องได้น้ำตาล เกลือแร่ กรดไขมัน และกรดอะมิโนที่จำเป็น ร่างกายจะหลั่งสารความสุข เป็นการกระตุ้นวงจรการให้รางวัลอย่างมาก
  9. ทำให้น้องเรียนรู้ว่า เมื่อตัวเองหิว จะต้องพูดคำว่า “หม่ำ” จึงจะได้กินและมีความสุข ซึ่งเป็นการพูดตรงกับความหมายด้วย
  10. เมื่อกินนมหรืออาหารเข้าไป ระบบประสาทอัตโนมัติจะไปกระตุ้นการทำงานของลำไส้และการขับถ่าย ทำให้น้องถ่ายอุจจาระปกติ ไม่มีท้องผูก

ดังนั้นการจะพูดได้ 1 พยางค์ รู้เรื่อง ตรงความหมาย น้องๆจะต้องมีระบบประสาทที่ดีพอ อย่างน้อย 10 อย่าง ภายในเวลาเสี้ยววินาที ใช้เซลล์สมองไม่ต่ำกว่าล้านเซลล์ ใช้การติดต่อระหว่างเซลล์ไม่ต่ำกว่า 10 ล้านครั้ง ผ่านเส้นทางที่เชื่อมโยงทั่วทั้งสมอง เรียกว่า connectivity แบ่งเป็นเส้นทางภายในสมองส่วนนั้นๆ เรียกว่า short range หรือ intra-hemisphere และเส้นทางระหว่างสมองส่วนอื่นๆ เรียกว่า long range หรือ inter-hemisphere connectivity

คราวนี้ลองดูที่รูปพีระมิดด้านล่างนะคะ จะเห็นได้ว่ากว่าน้องจะพูดได้นั้น ต้องมีพื้นฐานพัฒนาการด้านอื่นๆมาแล้ว อย่างน้อย 10 ข้อด้านบน ค่อยๆดูช้าๆค่ะ

น้องออทิสติกแต่ละคนมีปัญหาไม่เหมือนกัน บางคนมีปัญหาการได้ยินเยอะ บางคนมีปัญหาการออกเสียงเยอะ บางคนมีปัญหาความเข้าใจ แต่เอาแบบง่ายๆ สรุปคร่าวๆ ดังนี้

  1. การมองเห็นของน้องอาจจะไม่เหมือนเด็กปกติ หลายๆคนมองภาพมัวๆ มองภาพเฉพาะจุด ไม่มองตา ทำให้เค้ามองการขยับปากผิดเพี้ยนไป บางคนไม่สามารถโฟกัสที่ปากแม่ได้ จะมองเห็นทุกอย่างรอบๆตัวไปหมด เสียสมาธิง่าย
  2. การได้ยินของเค้าก็อาจได้ยินเป็นเสียงสูงหรือต่ำกว่าปกติ หรือเป็นเสียงก้องๆ ออทิสติกหลายๆคนจะไม่สามารถตัดเสียงรบกวนได้ เค้าจะได้ยินทั้งเสียงแม่ เสียงพัดลม เสียงกระดิ่ง เสียงทีวี เสียงแอร์ดังพร้อมๆกัน เหมือนเค้าได้ยินเสียงพายุเลย ดังนั้นเสียงคำว่า “หม่ำ” ที่ถูกต้อง ก็อาจเพี้ยนไป
  3. เส้นทางการเชื่อมโยงระหว่างสมองแต่ละส่วนทั้งน้อยและช้า เราเรียกว่า underconnectivity และเส้นทางนี้เสียทั่วทั้งสมอง ไม่ต่ำกว่า 15 เส้นทาง หลายล้านการติดต่อ เมื่อเส้นทางระหว่างสมอง (inter-hemisphere connectivity) ทำงานช้าทำงานแย่ลง สมองส่วนนั้นก็จะเร่งการทำงานภายในให้มากขึ้น (intra-hemisphere connectivity) น้องๆจะยิ่งหมกมุ่นกับสิ่งกระตุ้น เช่น ชอบดูพัดลมหมุนๆ เล่นล้อรถ ฟังเสียงของเล่นเดิมๆ
  4. จากปัญหาด้านบน ทำให้น้องไม่มีสมาธิ เพราะทั้งภาพและเสียงโดนรบกวน นึกภาพเหมือนกับมีพายุเข้า แล้วเราคุยกับอีกคนท่ามกลางพายุ
  5. สมองส่วนหน้าจะพยายามวางแผนการขยับปาก ขยับลิ้นหรือขากรรไกร แต่มันผิดเพี้ยนไปหมด เพราะการมองเห็น การได้ยิน และการประสานงานไม่ถูกต้องตั้งแต่แรก
  6. น้องก็จะออกเสียงผิดบ่อยๆ แม่จะพูดใหม่พยายามให้น้องพูดตาม แต่ภาพและเสียงที่น้องได้รับมันไม่ดีตั้งแต่แรก ยิ่งบังคับให้น้องพูดบ่อย น้องก็ยิ่งรำคาญ อึดอัด อารมณ์เสีย ยิ่งในบางคนสมองส่วนการพูด Broca ทำงานน้อย ทำให้อยากพูดแต่พูดไม่ได้ ยิ่งอึดอัดรำคาญ กรี๊ดออกมา
  7. ในเด็กออทิสติก เราพบว่าวงจรการให้รางวัล reward circuit ทั้งเล็กและทำงานน้อยกว่าเด็กปกติประมาณครึ่งนึง เวลาน้องออทิสติกพูดถูกต้อง เค้าก็อาจจะไม่ค่อยฟิน ไม่ค่อยดีใจ ไม่ตอบสนอง เพราะอ่านหน้าตาที่มีความสุขหรือรอยยิ้มของแม่ไม่เป็น มันก็ไม่มีแรงจูงใจที่จะพูดให้ถูกต้องเท่าเด็กปกติ
  8. เวลาน้องๆออทิสติกกินนมหรือกินอาหาร แต่การรับรสที่ลิ้นเค้าไม่ปกติ ก็ยิ่งทำให้เค้ากินอาหารได้จำกัด กินแค่บางอย่างที่เค้าชอบ ยิ่งกินของที่ชอบก็กินซ้ำๆ ทำให้ขาดสารอาหาร ขาดไฟเบอร์ ยิ่งทำให้ท้องผูกอีก จากเดิมที่ระบบประสาทอัตโนมัติก็ไม่ค่อยดีอยู่แล้ว
  9. และปัญหาทุกอย่าง ก็เป็นวงจรอุบาทว์ซ้ำกันไปซ้ำกันมาแบบนี้ ยิ่งปล่อยไว้นาน น้องๆก็จะติดพฤติกรรมแย่ๆไป ยิ่งอายุมากขึ้น ยิ่งแก้ยาก

นี่แค่การพูด 1 พยางค์ ยังต้องใช้ความพร้อมขนาดนี้ การพูดเป็นประโยค มีความหมาย ตรงกับเหตุการณ์ ยิ่งซับซ้อนไปกว่านี้อีกมากมาย ใช้การเชื่อมต่อของสมองไม่ต่ำกว่าร้อยล้านครั้ง จะยิ่งมีปัญหาขนาดไหน

Brainwell Medical

Brainwell Medical คือทีมผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต จิตวิทยา และสภาวะของสมอง เรามุ่งเน้นการรักษาผู้ป่วยที่ซับซ้อนด้วยอุปกรณ์ เครื่องมือ และประสบการณ์ อย่างมืออาชีพ

บทความที่เกี่ยวข้อง

เมื่อลูกฉันเป็นออทิสติก การยอมรับและเตรียมพร้อมเพื่อดูแลลูก

เมื่อลูกฉันเป็นออทิสติก การยอมรับและเตรียมพร้อมเพื่อดูแลลูก

เมื่อพ่อแม่พาลูกไปหาหมอด้วยความกังวลใจเกี่ยวกับพัฒนาการที่ไม่เป็นไปตามปกติ คำว่า "ออทิสติก" หรือ “เด็กพิเศษ” หรือ “ออทิสติกสปคตรัม”...

เด็กออทิสติก มีต้นไม้ในสมอง น้อยกว่าเด็กปกติ

เด็กออทิสติก มีต้นไม้ในสมอง น้อยกว่าเด็กปกติ

เด็กออทิสติก มีต้นไม้ในสมอง น้อยกว่าเด็กปกติ นึกถึงภาพต้นไม้ที่ใหญ่มากๆ เหมือนต้นก้ามปูขนาดยักษ์ แตกกิ่งก้านสาขาไปแสนกิ่ง เซลล์ประสาทนี้เรียกว่า...

สมองเด็กออทิสติก ถูกประกาศล็อคดาวน์ เดินทางข้ามจังหวัดไม่ได้ พัฒนาการเลยช้ากว่าปกติ

สมองเด็กออทิสติก ถูกประกาศล็อคดาวน์ เดินทางข้ามจังหวัดไม่ได้ พัฒนาการเลยช้ากว่าปกติ

สมองเด็กออทิสติก ถูกประกาศล็อคดาวน์ เดินทางข้ามจังหวัดไม่ได้ พัฒนาการเลยช้ากว่าปกติ ในการเรียนรู้และการมีพัฒนาการที่ดีขึ้น...

แสดงความคิดเห็น